หนังสือ แกะรอยตัวพิมพ์ไทย ผู้เขียน: ประชา สุวีรานนท์ สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน/sameskybook (Book Factory)
รายละเอียด : แกะรอยตัวพิมพ์ไทย
ตั้งแต่เทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาสู่สยามเมื่อ 160 ปีที่แล้ว ตัวพิมพ์ไทยมากหน้าหลายตาก็ได้ออกมาอวดโฉมในบรรณพิภพด้วยฝีมือการสร้างสรรค์ของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า บางตัวก็เลือนหายไปกับกาลเวลา บางตัวก็เป็นที่นิยมใช้กันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ บ้างก็ถูกนำมาปรับแปลงใช้ใหม่ในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นบรัดเล ธงสยาม ฝรั่งเศส โป้งไม้ โมโนไทป์ มานพติก้า หรือ ดีบี เอราวัณ ชื่อแต่ละชื่อเหล่านี้ล้วนมีประวัติความเป็นมาและเป็นไปที่ผูกพันกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยในยุคสมัยต่างๆ อย่างแน่นแฟ้น
ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานนี้ แม้เทคโนโลยีการสร้างตัวพิมพ์จะเปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดหย่อน จากยุคที่ช่างฝีมือผู้ชำนาญแกะสลักร่องรอยลงบนแท่งพันช์จนเกิดเป็นรูปตัวอักษร ซึ่งจะยังผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอนกว่าจะปรากฏเป็นรูปตัวพิมพ์บนแผ่นกระดาษ จนกระทั่งถึงยุคที่นักออกแบบตัวพิมพ์ทำงานด้วยระบบดิจิทัลที่อาศัยชุดคำสั่งอันประกอบด้วยข้อมูลตัวเลขและเวกเตอร์เบื้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ตัวพิมพ์ก็ยังคงทำหน้าที่เดิมที่มันทำมาตั้งแต่แรกเริ่ม นั่นคือ เป็นสื่อของข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และความบันเทิงสำหรับผู้คนจำนวนมหาศาล
หนังสือเล่มนี้มุ่งหมายที่จะเสนอเรื่องราวของตัวพิมพ์ไทยอย่างรอบด้าน โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่หนึ่งจะนำผู้อ่านไปสัมผัสมิติด้านต่างๆ ของตัวพิมพ์ เริ่มด้วยการสำรวจโลกของเทคโนโลยีการสร้างตัวพิมพ์ จากนั้นจะเป็นการพิจารณาแง่มุมต่างๆ ของศิลปะการออกแบบตัวพิมพ์ไทย ทั้งในด้านประสิทธิภาพการใช้งาน รูปลักษณ์ของตัวพิมพ์แบบต่างๆ รวมถึงนัยยะแฝงที่พ่วงมากับตัวพิมพ์ ตอนที่หนึ่งนี้จะจบลงด้วยบทวิเคราะห์การใช้งานตัวพิมพ์ในบริบทสังคมปัจจุบัน
ตอนที่สองของหนังสือจะเดินเรื่องในกรอบของประวัติศาสตร์ โดยคัดเลือกแบบตัวพิมพ์ 10 แบบของอักษรไทยมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนขับขานเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างตัวพิมพ์กับการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในยุคสมัยต่างๆ ไปตามลำดับ เพื่อเราจะได้ตระหนักถึงความแนบแน่นที่ตัวพิมพ์ผูกพันอยู่กับปัจจัยเหล่านี้เสมอมา ไม่ว่าจะเป็นในทิศทางที่ก้าวหน้า ถดถอย ลังเล เวียนวน หรืออาจจะคลี่คลายไปในแนวทางที่ยังไม่อาจคาดการณ์ใดๆ ได้เลยก็ตาม