หนังสือ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ฟิลิปปินส์กับชะตากรรมของชาติ…อาการตาสว่างกับอารมณ์ค้างแบบหลังอาณานิคม ของ สิริฉัตร รักการ
หนังสือของสิริฉัตร เผยให้เห็นถึงข้อถกเถียงและการขับเคี่ยวกันของเหล่านักประวัติศาสตร์ ฟีลีปีโนในยุคหลังอาณานิคมที่พยายามก้าวให้พ้นจากการเขียนประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการเขียนประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ของเจ้าอาณานิคม และสถาปนาความทรงจำร่วมของชาติขึ้นมาใหม่ หนังสือเล่มนี้เปิดให้เห็นถึงกระบวนการแสวงหาความทรงจำร่วมทางประวัติศาสตร์ของคณะกรรมาธิการประวัติศาสตร์แห่งชาติฟิลิปปินส์ในฐานะที่เป็นเสาหลักในการสร้างความทรงจำร่วมทางประวัติศาสตร์ชาติในยุคหลังอาณานิคม
สิริฉัตรเปิดเผยให้เห็นว่า ความทรงจำร่วมทางประวัติศาสตร์ชาติที่ได้รับการประทับตราขึ้นในนามของคณะกรรมาธิการประวัติศาสตร์แห่งชาติฟิลิปปินส์นั้นได้รับอิทธิพลความคิดชนชั้นนำนิยมแบบเจ้าอาณานิคม โดยยึดเอากลุ่มชนชั้นนำทางสังคมการเมืองเป็นองค์ประธาน ในขณะที่ไม่ได้ขับเน้นให้เห็นถึงบทบาทของมวลชนกลุ่มอื่นๆ ในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติ โดยในเวลาต่อมา ความทรงจำทางประวัติศาสตร์แบบดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางความคิดและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนะในการเขียนประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์อย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อรูปของกระแสความคิดในการเขียนประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง หรือการเขียนประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ที่มีมวลชนคนชั้นล่างเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์เพื่อตอบโต้และต่อต้านชุดความทรงจำทางประวัติศาสตร์แบบชนชั้นนำนิยมที่ผลิตขึ้นโดยคณะกรรมาธิการประวัติศาสตร์แห่งชาติ จนกระทั่งพัฒนากลายเป็นมหากาพย์สงครามการต่อสู้ทางชนชั้นในการเขียนประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ในยุคหลังอาณานิคม อันเป็นการต่อสู้ระหว่างการเขียนประวัติศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลความคิดชนชั้นนำนิยมแบบเจ้าอาณานิคม และการเขียนประวัติศาสตร์จากมวลชนคนชั้นล่างอย่างดุเดือด
หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์นิพนธ์ฟิลิปปินส์กับชะตากรรมของชาติ…อาการตาสว่างกับอารมณ์ค้างแบบหลังอาณานิคม ของสิริฉัตร รักการ เล่มนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญอีกหมุดหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจต่อการสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติ อย่างน้อยก็ต่อชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้วยความหวังเช่นนี้ โดยเริ่มนับจากหมุดหมายหมุดนี้ เราจึงน่าจะได้เห็นงานศึกษาที่น่าตื่นเต้น เต็มไปด้วยข้อสนเทศแปลกใหม่และมีการวิพากษ์ที่ลึกซึ้งรอบด้านเกี่ยวกับการศึกษาการสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติของชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการประวัติศาสตร์พม่า หรือคณะกรรมการค้นคว้าและเขียนประวัติศาสตร์ชาติลาว และแม้กระทั่งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยเองตามหลังมาอย่างไม่ตกขบวนแน่เทียว