✨ Marinshop ✨ [ลด50%ใน LIVEทุกวัน] โรงเรียนพ่อแม่ หมอประเสริฐแนะนำ AMR
คำนำ โรงเรียนพ่อแม่
ตอนที่ 1
หลังจากทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่สองปีจึงกลับกรุงเทพฯ มาเรียนจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ปากคลองสาน
ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยานี้เรามีบุ๊คคลับ บุ๊คคลับครั้งหนึ่งแพทย์ประจำบ้านได้รับมอบหมายให้อ่านหนังสือเล่มสำคัญของอีริค เฮช อีริคสัน เรื่อง Childhood and Society บท Eight Ages of Man
สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์เราเรียนทฤษฎีพัฒนาบุคลิกภาพของซิกมันด์ ฟรอยด์ และฌอง เพียเจต์เสียมาก ตอนนั้นรู้สึกได้ว่าไปไม่สุดทาง ทั้งฟรอยด์และเพียเจต์จบเรื่องราวของตนเองไว้ที่ประมาณก่อนวัยรุ่นเล็กน้อย ที่จริงแล้วส่วนที่เข้มข้นเป็นวัยเด็กเล็กด้วยซ้ำไป
ความไปไม่สุดนั้นเองที่ทำให้งานเขียนทฤษฎีพัฒนาบุคลิกภาพของอีริคสันมีเสน่ห์สำหรับตัวเอง เพราะเขาเขียนพัฒนาการ 8 ขั้นตอนตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงตาย ดังที่ผมเขียนเสมอว่า “เมื่อลูกแรกเกิด คุณแม่ห้ามตาย” และเมื่อเราอายุมีอายุถึงขั้นที่ 8 คือวัยชรา “เรามีหน้าที่ตายและควรได้ตายอย่างสงบ” ความละเอียดอยู่ในหนังสือของอิริคสันเล่มนี้
เมื่อเรียนจบจิตเวชศาสตร์กลับไปทำงานที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด ด้วยความที่เป็นจิตแพทย์คนเดียวจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ตรวจเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาพฤติกรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องไปบรรยายให้คุณครูหรือชุมชนบางแห่งฟังเป็นระยะๆ การตรวจเด็กและวัยรุ่นจำนวนมากอยู่คนเดียวนานหลายปีก่อนจะมีคนมาช่วยทำให้เห็นตอนจบของพัฒนาการตามที่เป็นจริง ดังที่เขียนเสมอว่า “เลี้ยงอย่างไร ได้อย่างนั้น” แต่จะว่าไปตัวเองก็ไม่ชัดเจนนักว่าทำไม “เด็กคนหนึ่งถึงไปได้ดีกว่าเด็กอีกคนหนึ่ง”
ตอนที่ 2
เวลาผ่านไปอีกหลายปีก่อนที่จะพบความรู้เรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 บัดนี้เรามีทางออกให้แก่การศึกษาแล้ว
การศึกษาไม่ควรมอบความรู้แต่ควรมอบทักษะศตวรรษที่ 21 คือทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที ตอนที่รู้เรื่องนี้จำได้ว่าโลกยังไม่มีไวไฟ อินเทอร์เน็ตยังมีสาย และคอมพิวเตอร์ยังมีขนาดใหญ่ตั้งบนโต๊ะ
การค้นพบทักษะศตวรรษที่ 21 ทำให้รู้สึกว่าเรามีทางออก โดยหารู้ไม่ว่าไอทีของโลกจะพัฒนาก้าวกระโดดและโลกเข้าสู่ยุคดิสรัปชั่นอย่างเร็วโดยที่การศึกษาของเราล้าหลังอยู่ประมาณสองร้อยปี
เป็นที่ชัดเจนว่าเด็กคนใดยังจมอยู่กับสนามแข่งขันประเภทแพ้คัดออกนี้จะถูกดิสรัปเต็ดก่อนเรียนจบ
อย่างไรก็ตาม ฟรอยด์ เพียเจต์ อิริคสัน รวมทั้งมาห์เลอร์ และโคลเบิร์กที่ตัวเองได้มาจากครั้งเรียนจิตเวชศาสตร์ บวกเข้ากับทักษะศตวรรษที่ 21 ก็ยังไม่พบคำตอบของคำถาม “เพราะอะไรเด็กคนหนึ่งถึงไปได้ดีกว่าเด็กอีกคนหนึ่ง” อยู่ดี
หลังจากทำงานมาสามสิบกว่าปีพบด้วยสายตาว่าเด็กสองคนที่มีพื้นฐานครอบครัวและภูมิหลังการศึกษาเหมือนกันทุกประการ อีกทั้งมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดพอกันกลับมีจุดจบที่ไม่เหมือนกัน คนหนึ่งจบแพทย์ไปทำงาน อีกคนหนึ่งติดยามาจบที่โต๊ะทำงานของผมเอง
ประสบการณ์การทำงานเหล่านี้บวกกับความรุดหน้าของมือถือในมือเด็กทำให้ตัวเองมีความคิดจะเขียนทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพสำหรับเด็กไทยสักชิ้นหนึ่ง แต่ติดขัดที่พบว่ายังมีช่องว่างของคำอธิบาย จากวัยเด็กเล็กสู่วัยรุ่นในศตวรรษที่ 21 เรายังหาทางออกให้แก่เด็กโตไม่พบ
ตอนที่ 3 จบ
แล้วความรู้เรื่อง EF หรือ Executive Function ก็ผุดขึ้น ความรู้นี้เข้ามาเติมช่องว่างที่หายไปได้อย่างน่าพึงใจ จากฟรอยด์ เพียเจต์ อิริคสัน มาห์เลอร์และโคลเบิร์ก เราพัฒนา EF ไปพร้อมกันได้ตั้งแต่แรกเกิดด้วยการอ่านนิทานก่อนนอน ตั้งแต่เด็กเล็กด้วยการเล่นมากที่สุด และสำหรับเด็กโตด้วยการทำงาน
จากนั้นตามด้วยพัฒนาการศึกษาทักษะศตวรรษที่ 21 บัดนี้เราได้โครงร่างของพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เองครบวงจรด้วยตัวเอง แน่นอนว่าถ้ามีรัฐและการศึกษาที่ดีช่วยเราด้วยเรื่องก็จะสะดวกมากยิ่งขึ้น
แต่ถ้าไม่มีใครช่วยเรา ลำพังความรู้เรื่องพัฒนาการเด็ก EF และทักษะศตวรรษที่ 21ก็เป็นความรู้ที่คุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ควรมี เราอาจจะไม่มีเงิน ไม่สามารถพาลูกเข้าโรงเรียนทางเลือกหรือทำโฮมสคูล อีกทั้งต้องส่งลูกเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออกเพราะไม่มีทางเลือก แต่โครงสร้างพัฒนาการสามส่วนนี้สามารถช่วยเราได้อย่างแน่นอน
ผมจึงเขียน “บันได 7 ขั้นสู่ศตวรรษที่ 21” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก แม้จะมิใช่ทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพที่ดีเลิศอะไร แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เราเห็นความเชื่อมโยงตลอดสายจากเด็กเล็กสู่อนาคตที่ดีเป็นขั้นตอน ไม่นับว่าในที่สุดเราก็ได้รับคำตอบเพราะอะไรเด็กคนหนึ่งถึงไปได้ดีกว่าเด็กอีกคนหนึ่ง เพราะ EF ไม่เท่ากัน
วันหนึ่งผมรับเชิญไปบรรยายพัฒนาการเด็กที่จังหวัดเชียงใหม่ให้แก่กลุ่มทันตแพทย์ที่ใส่ใจการเลี้ยงเด็กสมัยใหม่ ขณะขับรถกลับได้รำพึงกับภรรยาว่าตัวเองคงไม่สามารถขับรถข้ามภูเขาอันตรายนี้ได้มากนัก น่าจะถึงเวลาหยุดบรรยายเสียที
เป็นภรรยาที่พูดว่าพี่มีความรู้ที่เป็นจริง พี่บอกคนอื่นคนอื่นได้ประโยชน์ทุกครั้ง แล้วตามด้วยท่อนฮุคที่เธอฮุคผมประจำเวลาผมเบิร์นเอ๊าต์คือคนอย่างพี่ไม่ต้องไปทำบุญที่วัดไหนเลย ตรวจผู้ป่วยตรงหน้าให้ดีๆก็พอ
หลังจากนั่งเงียบกันไปอีกพักหนึ่งเราสองคนก็คิดออกพร้อมกันว่าถ้าเช่นนั้นเราไปสร้างเพิงไม้ที่สวนของเรา แล้วเชิญคุณพ่อคุณแม่ที่อยากฟังบรรยายมาฟัง เราพัฒนาเพิงไม้เก่า ห้องน้ำเก่า ถางหญ้า ปรับบริเวณ ทำถนน แล้วประกาศเชิญ ปรากฏว่ามีคนมา ชวนให้นึกถึงหนัง Field of Dream ที่ผมพูดถึงเสมอ “สร้างขึ้น แล้วพวกเขาจะมา”
เราสองคนช่วยกันทำโรงเรียนพ่อแม่อยู่สี่ปี ภรรยาสนุกมากกับการไปจ่ายตลาด หาขนม ทำของว่าง คัดสรรกาแฟและชาอย่างดี เอามาบริการคุณพ่อคุณแม่ที่เดินทางมาจากหลายจังหวัดเพื่อมาฟังบรรยาย มีทั้งที่บินมาจากชายแดนภาคใต้ คุณแม่นั่งรถบัสมาจากอีสานเพียงคนเดียว ขับรถมาเองทั้งครอบครัวจากทุกจังหวัด และขี่ช็อปเปอร์มากันสองพ่อลูกก็มี เราสองคนมีความสุขกับงานที่ทำ ผมไม่ต้องเดินทางไกลอีกเพราะเหนื่อยกับการเดินทางประชุมครั้งที่รับราชการมามากแล้วแต่ไม่เห็นผลลัพธ์อะไร
ในทางตรงข้ามการได้ดูใบหน้าคุณพ่อคุณแม่ที่ฟังบรรยายด้วยความสนใจอย่างใกล้ชิดกลับเป็นรางวัลชีวิตของตนเองที่มีค่ายิ่ง