หนังสือ ‘ผู้ไร้เสียง: คำยืนยันของ คายตรี จักรวรที สปีวาก’ โดยสันติ เล็กสกุล
หนังสือเล่มนี้ต้องการศึกษามโนทัศน์ ผู้ไร้เสียง เพื่อค้นหาว่าใครกันแน่คือ ผู้ไร้เสียง และทำไมพวกเขาจึงไม่สามารถพูดได้ งานวิจัยนี้ศึกษางานเขียนหลายชิ้นของนักทฤษฎีแนวหลังอาณานิคมผู้มีชื่อเสียงระดับโลกชื่อ คายตรี จักรวรตี สปิวาก (Gayatri Chakravorty Spivak) โดยเฉพาะบทความชื่อ ผู้ไร้เสียงจะพูดได้หรือไม่? จากการศึกษา ผู้ไร้เสียง คือผู้ที่ไม่สามารถใช้ เสียง ของตนเองเพื่อที่จะพูดแทนความเป็นตนเองและความต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ญาณวิทยาความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งมีอิทธิพลต่อวิธีคิดตะวันตก คือปัจจัยหลักที่ทำการกดทับและลบเสียงของผู้ไร้เสียง อีกทั้งกีดกันพวกเขาออกไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์การเมือง และประวัติศาสตร์ความรู้ และถูกนำเสนอภาพแทนอย่างบิดเบือน ในทัศนะของสปิวาก ผู้ไร้เสียงที่แท้จริงคือ ผู้หญิง และ ความเป็นเพศหญิง ซึ่งหมายรวมถึง ผู้หญิงจากทั้งโลกตะวันตกและผู้หญิงจากโลกที่สาม รวมถึงผู้คนในโลกตะวันออกที่ถูกเปรียบให้มีคุณลักษณะของความเป็นเพศหญิง เช่น อ่อนแอ เฉื่อยชา ไม่มีเหตุผล
สปิวากเป็นนักคิด นักวิชาการ ผู้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการวิพากษ์อุดมการณ์อาณานิคมผ่านการศึกษาวรรณกรรมและวัฒนธรรมด้วยกระบวนวิธีทฤษฎีแบบวิพากษ์อย่าง มาร์กซิสม์ (Marxism) สตรีนิยม (Feminism) รื้อสร้าง (Deconstruction) และ หลังอาณานิคม (Postcolonialism) โดยเฉพาะงานที่ศึกษาผู้ที่อยู่ในสถานะรอง (Subaltern Studies) หรืองานอื่นๆ ที่เสนอแนวคิดล้ำยุคต่างๆ ในกรอบคิดว่าด้วยโลกาภิวัตน์ (Globalisation) เธอยังเป็นผู้แปล Of Grammatology ของแดร์ริดา เป็นภาษาอังกฤษ